การดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
เชื่อแน่ว่าหลายคนคงเคยได้ยินที่เขาบอกว่า เป็นเบาหวานแล้วต้องตัดเท้าทิ้ง เป็นเรื่องจริงหรือไม่? โดยปกติแล้วการดูแลรักษาเท้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หรือการติดเชื้ออย่างรุนแรงมากกว่าคนปกติ และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ อาจลุกลามจนต้องตัดเท้าได้อีกด้วย ดังนั้น การหมั่นสังเกตความผิดปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเราจะมาแนะนำการดูแลสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานกันค่ะ
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นแผลที่เท้าได้ง่ายกว่าคนปกติ
1. เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของปลายประสาท โดยเริ่มที่ปลายเท้า ทำให้มีอาการเท้าชา ผิดรูป เกิดภาวะหนังด้านแข็ง และทำให้เกิดบาดแผลไม่รู้ตัว กว่าจะสังเกตเห็นก็ลุกลามไปมากแล้ว อีกทั้งเมื่อประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อขาและเท้าเสื่อม กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวจะแฟบทำให้เท้าผิดรูป เท้าจะรับน้ำหนักได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งบริเวณที่รับน้ำหนักมากจะด้านแข็งและเป็นแผลจากการกดทับซ้ำ ๆ
2. การไหลเวียนไปยังเท้าลดน้อยลง เนื่องจากผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น ทำให้ขาดออกซิเจนและผิวหนังบางลง และหากเป็นมาก หลอดเลือดจะอุดตัน เนื้อเยื่อส่วนปลายตายจนเกิดเป็นสีดำคล้ำจนนำไปสู่การตัดนิ้วหรือเท้าในที่สุด
3. การมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและเมื่อเกิดบาดแผล แผลก็จะหายช้า
การดูแลรักษาเท้า
ในการดูแลรักษาเท้าสามารถทำได้ทั้งเพื่อป้องกันการเกิดแผลและดูแลสุขภาพเท้าในระหว่างที่กำลังเป็นแผลที่เท้า โดยสามารถทำได้ดังนี้
1. ทำความสะอาดเท้าสม่ำเสมอ ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้านุ่มสะอาด โดยเฉพาะในบริเวณซอกเท้าระหว่างนิ้ว เพื่อป้องกันการอับชื้นซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลได้ง่าย อีกทั้งควรหมั่นสำรวจและสังเกตความผิดปกติของเท้าและเล็บว่ามีรอยแดง บวม มีแผล หรือเล็บขบหรือไม่
2. ไม่กินตามใจปาก ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและตรวจค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. ระวังการตัดเล็บ ต้องตัดในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอและควรตัดหลังจากอาบน้ำ เพราะเล็บจะนุ่มและตัดง่ายขึ้น และควรตัดให้อยู่ในแนวของเล็บเท่านั้น อย่าตัดเล็บโค้งเข้าจมูกเล็บหรือตัดลึกจะเกิดแผลได้ง่าย
4. ใช้ครีมหรือโลชั่นนวดบริเวณเท้า เพื่อให้ผิวหนังนุ่ม ชุ่มชื้น นอกจากนี้ ยังป้องกันการเกิดอาการคันจากการที่ผิวแห้งและเกาจนเกิดแผลได้ แต่ต้องระวัง ไม่ควรทาลงไปที่ซอกระหว่างนิ้ว เพราะจะเกิดการหมักหมมจนเกิดบาดแผลและอาจจะติดเชื้อได้
5. หากมีอาการหนังด้านที่เท้า ควรปรึกษาแพทย์และดูแลเท้าเบื้องต้น ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้งหลังจากอาบน้ำ ใช้หินขัดเท้าถูบริเวณที่หนังด้านให้บางลงอย่างอ่อนโยน
6. ใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่รัดจนเกินไป เพราะจะเป็นสาเหตุให้เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก ทั้งนี้ถุงเท้าจะช่วยคงความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังและช่วยลดแรงเสียดสีที่เป็นสาเหตุการเกิดแผล
7. ควรเลือกรองเท้าสุขภาพที่เหมาะสม ใส่พอดี เหมาะกับรูปทรงของเท้า แต่หากเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ไม่ควรใส่เดินนานเกิน 30 นาที – 1 ชั่วโมง ควรมีรองเท้าสำรองไว้สับเปลี่ยนการใส่
8. ถ้าเท้าเย็นในช่วงเวลากลางคืน ควรใส่ถุงเท้าแทนการใช้กระเป๋าน้ำร้อน อาจจะเกิดแผลลวกหรือพุพองได้
9. ออกกำลังกายเท้าเพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท้า และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า โดยการกระดกข้อเท้าขึ้นลงสลับกันช้า ๆ หรือหมุนข้อเท้าเข้าออกช้า ๆ
10. พบแพทย์ทันทีเมื่อมีแผลที่เท้า
ปัญหาสุขภาพเท้าในผู้ป่วยเบาหวานมีหลายลักษณะอาการตั้งแต่อาการชา ผิวหนังแห้งหนา แตก เป็นแผลเล็ก ๆ จนกระทั่งแผลใหญ่และมีการติดเชื้อ แผลที่เกิดส่วนใหญ่มักหายช้าและอาจจะลุกลามมากขึ้นจนถูกตัดขา การป้องกันการเกิดแผลที่เท้าจึงเป็นวิธีที่สามารถทำให้เห็นผลได้อย่างชัดเจน โดยตัวผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญในการดูแลตัวเอง คือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจดูเท้าและทำความสะอาดเท้าอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลได้ดีที่สุดค่ะ
เลือกซื้อรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
คลินิกตรวจสุขภาพเท้า โดยผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงงาน ใกล้ Central พระราม 2 หรือช็อบบน ICON SIAM ในห้าง Siam Takashimaya ชั้น 2 แผนกรองเท้าสุขภาพ
foot clinic เปิดบริการ จันทร์-เสาร์ 8.30-17.30 น. Tel 02-896-3800