“ฝ่าเท้า” เป็นพื้นของเท้าที่สัมผัสกับพื้นทั่วไปในขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว ทำหน้าที่ในการแบกรับน้ำหนักทั้งตัวของคนเรา จะว่าไปแล้ว ฝ่าเท้านับเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับจุดต่างๆของร่างกาย แต่เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยเฉพาะมีอาการปวดที่ฝ่าเท้า ซึ่งสามารถบอกโรคต่างๆได้มากมายจะต้องพิจารณาจากสาเหตุของอาการเจ็บในส่วนต่างๆของฝ่าเท้าว่าเข้าข่ายเป็นโรคอะไร เพื่อจะได้รักษาและป้องกันได้อย่างตรงจุด
อาการปวดฝ่าเท้าเกิดขึ้นได้บริเวณใดบ้าง
อาการปวดฝ่าเท้าสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆจุดดังนี้
- หน้าเท้า หรือ จมูกเท้า(ball of foot)
- ฝ่าเท้าด้านนอกหรือด้านข้างเท้า(lateral foot)
- ฝ่าเท้าด้านในหรืออุ้งเท้า(arch of foot)
- พังผืดฝ่าเท้า(plantar fascia)
- ส้นเท้า(heel)
- ฝ่าเท้าด้านบน(dorsal foot)
อาการหรือโรคที่เกิดขึ้นในแต่ละส่วนของฝ่าเท้ามีอะไรบ้าง
- ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า
เกิดขึ้นเนื่องจากมีแรงกดบริเวณหน้าเท้ามากจนเกินไป(Metatarsalgia) รวมถึงการที่น่องและเอ็นร้อยหวายตึงเกินไป ทำให้เวลาเดิน วิ่งหรือเคลื่อนไหวมีแรงกระแทกที่บริเวณหน้าเท้ามากกว่าปกติจนทำให้รู้สึกปวด นอกจากนั้นยังเกิดจากเส้นประสาทหน้าเท้าเป็นปม (Morton’s neuroma) จะปวดบางจุดบริเวณหน้าเท้า ซึ่งมักจะเป็นระหว่างนิ้วเท้าที่สามกับนิ้วเท้าที่สี่ บางกรณีอาจจะชาที่นิ้วเท้า หรือปวดร้าวมายังส่วนหลังเท้าและฝ่าเท้าในส่วนอื่นๆ ในการรักษาอาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้า จำเป็นต้องรู้สาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุด แต่มีข้อควรระวังในการปฏิบัติ - เลี่ยงการยืน เดิน เป็นเวลานานๆ
- เลือกรองเท้าที่พื้นนุ่ม ส้นไม่สูง และหน้ากว้าง
- ทำกายภาพยืดน่องบ่อยๆ
- ปวดฝ่าเท้าด้านใน
มักเกิดกับคนที่มีภาวะเท้าแบน(flatfoot) หากใช้งานมากๆจะมีอาการเจ็บและบวมตามแนวเอ็นประคองข้อเท้าด้านในร่วมด้วย นอกจากนั้นยังสามารถเกิดจากกระดูกงอกที่เอ็นประคองข้อเท้าด้านใน (accessory navicular)ได้ด้วย ในหมู่นักกีฬาหรือคนที่มีน้ำหนักตัวมากมักจะมีการปวดฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า เกิดจากการใช้งานในส่วนนี้หนักจนเกินไป ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติในการดูแลรักษาฝ่าเท้าด้านในดังนี้ - เลี่ยงการยืน เดิน เป็นเวลานานๆ ยกขาขึ้นสูงให้บ่อยเท่าที่สามารถทำได้
- กรณีที่มีภาวะเท้าแบน ให้เลือกรองเท้าเสริมอุ้งมาใส่ในรองเท้า
- ยืดน่องบ่อยๆ
- ฝีกความแข็งแรงของเอ็นประคองฝ่าเท้า โดยค่อยๆเพิ่มระดับความเข้มข้น
- ปวดฝ่าเท้าด้านนอก
เกิดจากเท้าโก่ง(cavus foot)หรืออุ้งเท้าสูง ทำให้มีการลงน้ำหนักด้านข้างเท้ามากผิดปกติ หรือกรณีที่เคยมีประวัติอุบัติเหตุมาก่อน อาจมีภาวะกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 หัก ซึ่งสามารถเกิดได้จากข้อเท้าพลิก ตกบันได ตกเส้นสูง เป็นต้น ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเอง ดังต่อไปนี้ - เลือกสวมรองเท้าที่มีพื้นนุ่ม
- ใส่รองเท้าทั้งในและนอกบ้าน
- เลือกแผ่นรองเท้าที่นุ่มมาใส่เสริม
- ทำกายภาพยืดน่องบ่อยๆ
- ปวดพังผืดฝ่าเท้า
โดยส่วนใหญ่เกิดมาจากรองช้ำ(plantar fasciitis) ซึ่งจะปวดบริเวณส้นเท้าเวลาเดิน นอกจากนั้นยังสามารถเกิดจากมีก้อนพังผืดฝ่าเท้า(plantar fascial fibromatosis),พังผืดฝ่าเท้าขาด(plantar fascia rupture) เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรุนแรงมาก่อน ส่วนวิธีปฏิบัติตัวในการรักษาและป้องกันอาการปวดพังผืด มีดังต่อไปนี้ - ออกกำลังหรือทำกายภาพยืดพังผืดเท้าบ่อยๆ
- ยืดน่องบ่อยๆ
- นวดคลึง โดยใช้การกดหรือเหยียบวัตถุกลมๆ พวกลูกเทนนิส หรือขวดน้ำ
- ใส่รองเท้าที่มีพื้นนุ่ม
- ปวดฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้า
เป็นผลมาจากอาการรองช้ำ(plantar fasciitis) ซึ่งจุดปวดจะอยู่บริเวณส้นเท้าเยื้องมาด้านหน้าและด้านใน จะปวดมากขึ้นตอนเริ่มเดิน นอกจากนั้นยังมีสาเหตุมาจากไขมันส้นเท้าฝ่อ(fat pad atrophy) ทำให้ส้นเท้าไม่มีส่วนที่รับแรงกดหรือแรงกระแทก อาจรู้สึกเจ็บตอนลงส้นเท้า โดยสาเหตุของไขมันส้นเท้าฝ่อ ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับยาฉีดบริเวณส้นเท้าแล้วยาไปรวมกันบริเวณไขมัน อาจมีผลทำให้ชั้นไขมันฝ่อได้หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง ส่วนวิธีในการปฏิบัติตัวมีดังต่อไปนี้ - ทำกายภาพยืดเหยียดพังผืดเท้าบ่อยๆ
- ทำกายภาพยืดน่องบ่อยๆ
- นวดคลึงโดยใช้การกดหรือเหยียบวัตถุกลมๆ เช่นลูกเทนนิสหรือขวดน้ำ
- ใส่รองเท้าพื้นนุ่มๆโดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า
- เลือกแผ่นรองรองเท้าที่มีพื้นนุ่มมาใช้
- ห้ามฉีดยาสเตียรอยด์ในผู้ที่เป็นโรคไขมันส้นเท้าฝ่อ เพราะจะทำให้เป็นมากขึ้น
- ในการฉีดยาส้นเท้าเพื่อรักษาโรครองช้ำ ควรปรึกษาแพทย์และไม่ควรฉีดบ่อยจนเกินไป
- ปวดฝ่าเท้าด้านบน
บริเวณนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหลังเท้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากข้อกลางเท้าสึก(midfoot osteoarthritis) โดยจะปวดบริเวณฝ่าเท้าด้านบน รวมถึงเกิดจากซีสบริเวณหลังเท้า(ganglion cyst) และเอ็นหลังเท้าอักเสบ(tendinitis) เนื่องจากการใช้งานเท้าหนักหรือใส่รองเท้าที่รัดมากเกินไป มีข้อควรปฏิบัติในการดูแลอาการปวดฝ่าเท้าด้านบนดังต่อไปนี้ - ไม่ใส่รองเท้าที่รัดบริเวณหลังเท้า
- กรณีที่ใส่รองเท้าแบบผู้เชือก ต้องไม่ผูกเชือกให้แน่นจนเกินไป และหากเป็นได้ไม่แนะนำให้ร้อยเชือกในรูที่ตรงกับบริเวณที่ปวด
- ใส่รองเท้าแบบเสริมอุ้ง
“ปวดฝ่าเท้า” อาการปวดที่มองข้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะปวดบริเวณไหนของฝ่าเท้าก็สามารถนำโรคภัยมาถึงเราได้ทั้งนั้น ดังนั้นควรมีการสังเกตอาการอยู่เสมอ หากมีความผิดปกติหรือเกิดการปวดเรื้อรัง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป