How to วิธีรักษาโรครองช้ำให้หายขาด
เมื่อใดก็ตามที่เรามีอาการปวดส้นเท้า การเดินของเราจะกลายเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาทันใดเลยค่ะ เพราะนั่นเราจะไม่สามารถทิ้งน้ำหนักลงได้ในทุกก้าวย่างที่เราต้องเดินไป โดยเฉพาะในนักวิ่งหลาย ๆ คนที่กำลังประสบปัญหานี้ เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า “โรครองช้ำ” ใครที่กำลังเป็นหรือใครที่กลัวว่าจะเป็นและสงสัยว่าเจ้าโรคนี้รักษาหายขาดไหม เรานำวิธีรักษาดี ๆ มาฝากกัน
อาการรองช้ำคืออาการปวดบริเวณส้นเท้าลามไปยังฝ่าเท้า โดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นยืนจากการตื่นนอนหรือการนั่งนาน ๆ ด้วยแล้วยิ่งปวดจี๊ดเลยค่ะ โรคนี้มักจะเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว แต่จะพบมากในผู้ที่อายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดอาการรองช้ำนั้น มาจากการรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้าต้องแบกรับน้ำหนักที่มาก โดยเฉพาะในผู้ที่ยืนเป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้ น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้มีอาการเช่นนี้ได้ด้วยค่ะ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ อย่าง ผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งออกกำลังกาย การเดินหรือวิ่งบนพื้นที่ที่ต่างไปจากเดิม
โดยอาการหลัก ๆ ของรองช้ำนั้น คืออาการเจ็บที่ส้นเท้าแล้วลามไปยังฝ่าเท้าตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น ซึ่งลักษณะอาการเจ็บนั้นจะมาในรูปแบบของการเจ็บจี๊ดขึ้นมาและมีอาการปวดอักเสบ ความปวดนี้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย โดยที่อาการปวดที่รุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มลงน้ำหนักที่ส้นเท้านั่นเองค่ะ
การรักษาอาการปวดส้นเท้าจากรองช้ำ
โดยทั่วไปนั้น เราจะรักษาอาการปวดส้นเท้าจากรองช้ำ ทำได้ด้วยหลัก 3 ข้อ ดังนี้
1. ลดการใช้งานเท้าหนัก ๆ ถ้าหากคุณคิดว่าคุณมีความจำเป็นต้องยืนหรือเดินนาน ๆ แล้วล่ะก็ จะต้องมีการหยุดพัก เพื่อให้เท้าของคุณได้มีช่วงเวลาที่ได้พักบ้าง
2. ลดการอักเสบ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีอาการปวด คุณสามารถประคบเย็นและร้อนเพื่อบรรเทาอาการนั้นได้
3. ลดแรงกระแทกที่ส้นเท้า หากคุณมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกระแทกที่ส้นเท้ามาก ๆ และมีอาการของรองช้ำ แนะนำให้หยุดกิจกรรมนั่นชั่วคราวจนกว่าอาการของคุณจะดีขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวและคุณอาจจะใช้เท้าไม่ได้ตามเดิม
นอกจากนี้ คุณสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอาการปวดที่จะเกิดตามมาได้ด้วยค่ะ สามารถทำได้ดังนี้
1. ปรับท่าวิ่งด้วยการวิ่งก้าวที่สั้นลงและพยายามเปลี่ยนมาลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าให้มีความนุ่มนวลขึ้น เพื่อลดแรงกระแทกที่จะส่งไปที่ส้นเท้า
2. เลือกรองเท้าที่มีเจลรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดการซัพพอร์ตที่ส้นเท้าให้ได้มากที่สุด
3. พยายามหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่แข็ง
4. หากมีเท้าที่ผิดรูป ควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปร่างของเท้า และหากหาไม่ได้ แนะนำให้สั่งตัดรองเท้าที่ออกแบบมาเฉพาะเท้าของเรา ซึ่งจะต้องเป็นรองเท้าที่มีความนุ่มและพอดีกับเท้า
5. พยายามควบคุมน้ำหนักให้พอดี อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐานมากเกินไป เนื่องจากเมื่อเรามีน้ำหนักที่มากขึ้น จะทำให้เท้าของเราต้องแบกรับน้ำหนักและแรงกดทับมากขึ้นด้วย
6. สำหรับใครที่มีอาการรองช้ำจากการวิ่ง แนะนำว่าหากคุณรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว และสนใจที่จะกลับไปลงสนามอีกครั้ง ให้คุณเริ่มต้นจากการเพิ่มระยะทีละน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะวิ่งในที่นุ่มก่อน ไม่ควรวิ่งในที่แข็งที่จะต้องรับแรงกระแทกเยอะ ๆ อาจส่งผลให้อาการกลับมากำเริบได้ใหม่
ใครที่เริ่มมีอาการอย่างที่กล่าวมา แนะนำว่าควรหยุดใช้งานเท้าหนัก ๆ จะดีกว่าค่ะ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับเท้าของเรา อย่ามัวคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย เพราะส่วนมากแล้วมักจะไม่หายเองค่ะ ดังนั้นหมั่นสังเกตอาการของเท้าที่เกิดขึ้น และไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มมีอาการจะดีที่สุด