เท้า กับโรค เบาหวาน – รวมการดูแลเท้าที่ถูกวิธีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

เท้าเบาหวาน

เท้า กับ โรคเบาหวาน สำคัญกับสุขภาพและชีวิต

เท้า ของผู้ป่วย เบาหวาน จำเป็นต้องได้รับการดูแลให้มากเป็นพิเศษ ต้องรักษาเท้าไม่ให้บาดเจ็บหรือติดเชื้อ เพราะการบาดเจ็บหรือเป็นแผลเพียงเล็กน้อย อาจลุกลามไปสู่อันตรายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ นั่นเพราะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักพบว่ามีอาการเสื่อมของประสาทส่วนปลายที่ไปเลี้ยงมือและเท้า การรับรู้ความรู้สึกน้อยลงเกิดอาการชาโดยเฉพาะนิ้วเท้า ทำให้มีอาการเท้าผิดรูป เกิดหนังด้านและเกิดแผล เป็นแผลโดยไม่รู้ตัวหรือกว่าจะสังเกตพบแผลก็ลุกลามไปมาก

นอกจากนี้ การไหลเวียนของโลหิตที่ไปสู่ขาลดลง เนื่องจากผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น ทำให้ขาดออกซิเจน ผิวหนังจะบางลง แผลหายช้า บางครั้งเป็นมากจนหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อส่วนปลายตายและมีสีคล้ำดำขึ้น จนต้องตัดนิ้ว หรือส่วนที่แห้งดำนั้นหลุดออกไปเองเลยก็มี ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มการถูกตัดขาเพิ่มขึ้นจากการเป็นแผลที่เท้า จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า ทุก 1 ปี มีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าถึง 1 ล้านเท้า!!

เท้า กับโรค เบาหวาน ดูแลอย่างไรให้สุขภาพเท้าดี

1. ตรวจสภาพเท้าทุกวัน

สังเกตว่าเท้ามีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น เป็นแผล พุพอง รอยบวมแดง ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ขุยขาวที่ซอกนิ้วเท้า ตาปลา สีเล็บเปลี่ยน เล็บขบ ฯลฯ รวมทั้งตรวจดูว่ามีอาการปวดหรือไม่ โดยดูให้ทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า โดยเฉพาะซอกระหว่างนิ้วและรอบเล็บเท้าที่เป็นจุดอับที่มักมองข้ามได้ง่าย ถ้ามองไม่เห็นอาจใช้กระจกส่องหรือให้ญาติตรวจดูให้ หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

2. ทำความสะอาดเท้าทุกวัน

ล้างเท้าให้สะอาดทุกวันด้วยสบู่และน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ไม่ใช้น้ำเย็นจัดหรือร้อน ควรใช้ข้อศอกตรวจระดับความร้อนของน้ำก่อนทุกครั้ง อุณหภูมิที่ปลอดภัย คือ ไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส และไม่ควรใช้แปรงขัดเท้า

หลังทำความสะอาดซับเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม เช่น ผ้าขนหนู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกนิ้วเท้า ใช้ผ้าค่อย ๆ ซับ อย่าถูไปมาแรง ๆ อาจทำให้เป็นแผลได้ อาจให้ลมเป่าให้แห้งสนิทอีกครั้งเพื่อป้องกันการอับชื้นซึ่งทำให้เกิดแผลง่าย

*ห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ดเท้าเพราะจะทำให้ผิวแห้งแตก*

*ห้ามใช้ลมร้อนเป่า เพราะนอกจากจะทำให้ผิวแห้งแตกได้ง่ายแล้ว ความร้อนยังอาจทำให้เกิดแผลพองได้อีกด้วย*

3. ใช้ครีมหรือโลชั่นทาบางๆ

 

ทาผิวหนังที่ขาและเท้าด้วยครีมหรือโลชั่นบาง ๆ เพื่อให้ผิวหนังนุ่ม ป้องกันผิวแห้งและป้องกันอาการคันและเกาจนเกิดแผล ทาเฉพาะบริเวณหลังเท้าและฝ่าเท้าเท่านั้น

* ห้ามทาบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้าเพราะจะทำ ให้หมักหมมอับชื้น และเกิดการติดเชื้อราได้ง่าย*

* ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบา ซึมซาบเร็ว เพื่อไม่ให้เหนียวเหนอะหนะ หรืออับชื้นง่าย ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้เช่นกัน *

4. สวมถุงเท้าลดการเสียดสี

ควรสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสี บาดเจ็บ โดยถุงเท้าที่เลือกต้องไม่รัดแน่นจนเกินไปเพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก

ถุงเท้าหรือถุงน่องต้องระบายอากาศและความชื้นได้ดี เนื้อผ้าซับน้ำและแห้งเร็ว ไม่อับชื้น ต้องไม่ขาดหรือมีรูโหว่เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสี

ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน ถ้าเป็นผู้ที่มีเหงื่อมากอาจจำ เป็นต้องเปลี่ยนถุงเท้าในระหว่างวันด้วย

บางครั้งช่วงหน้าหนาวหรืออุณหภูมิลดลงในช่วงเวลากลางคืนเพราะฝนตก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักมีอาการเท้าเย็นในเวลากลางคืน ควรสวมถุงเท้านอนเพื่อป้องกันอาหารเท้าชา ห้ามใช้กระเป๋าน้ำ ร้อน กระเป๋าไฟฟ้า ขวดน้ำ ร้อน ยาทาหรือยานวดที่ร้อน เช่น ยาหม่อง หรือแผ่นร้อน วางหรือทาบบริเวณเท้าโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดแผลลวก หรือเท้าพองโดยไม่รู้สึกตัว

5. ควรตัดเล็บทุกสัปดาห์

ปกติเล็บคนเราจะงอกประมาณ 0.1- 0.2 มม.ต่อวัน การปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดเล็บขบหรือเล็บผิดรูปและเกิดการติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรตัดเล็บเป็นประจำทุกสัปดาห์ ถ้าเล็บหนาตัดเองไม่ได้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญการดูแลเท้าตัดเล็บให้

  • ควรตัดเล็บตามแนวขอบเล็บเท่านั้น แล้วใช้ตะไบขัดเพื่อลบรอยคมและป้องกันการเกิดเล็บขบ
  • ต้องตัดเล็บในที่สว่างเห็นได้ชัดเจน
  • ควรตัดเล็บภายหลังอาบน้ำ เพราะเล็บจะนุ่มตัดง่ายขึ้น
  • ห้ามตัดเล็บลึกถึงจมูกเล็บ
  • ถ้ามีผิวหนังที่หนาหรือตาปลาไม่ควรตัดเอง ควรได้รับการตัดให้บางทุก 6-8 สัปดาห์โดยผู้ชำนาญ

6. เลือกใช้ รองเท้าสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะ

การเลือกรองเท้าให้เหมาะสม ถือเป็นวิธีดูแลตนเองเพื่อป้องการเกิดแผลที่เท้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบปลายประสาทบกพร่อง เมื่อเกิดแผลที่เท้าแล้วทำให้กลายเป็นแผลลุกลามและติดเชื้อได้ง่าย รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. ควรเป็นรองเท้าปลายปิดหุ้มปลายเท้า หุ้มส้น หรือมีสายรัดส้นกันเท้าเลื่อนหลุด รูปร่างของรองเท้าควรมีขนาดเท่ากับเท้าพอดี
  2. พิจารณาจากขนาดของรองเท้า เป็นรองเท้าที่สามารถปรับขยายขนาดได้ เช่น รองเท้าผูกเชือก หรือรองเท้าที่มีแถบแปะ หรือมีเข็มขัด เพื่อปรับความกว้างตามขนาดเท้าที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาของวัน
  3. ควรเป็นส้นเตี้ย หรือไม่สูงมากนัก
  4. วัสดุด้านในควรเป็น Nano Silver สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษคือ น้ำหนักเบา รับน้ำหนักได้มากกว่า 100 กิโลกรัม พื้นผิวของวัสดุเรียบ มีสัมผัสที่ละเอียดอ่อน จึงไม่ทำให้เท้าเจ็บ
  5. พื้นผิวด้านในต้องเรียบ ไม่มีรอยต่อตะเข็บ รอยเย็บ รอยนูน ร่อง หรือขอบแข็ง เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีจนเป็นแผลได้
  6. ควรมีความบริสุทธิ์สูง ไม่ควรมีสิ่งเจือปนทางเคมีใด ๆ อาทิ สารฟอกหนัง สารเคลือบหนัง ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย
  7. สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ดี และสามารถทนต่อการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงโดยไม่ละลายหรือเสียรูปทรง
  8. ป้องกันไฟฟ้าสถิต
  9. ทนทาน ใช้งานได้นาน
  10. ทำความสะอาดง่าย

เลือกแบบรองเท้าสำหรับผู้ป่่วยเบาหวาน

* ถ้าใส่รองเท้าคู่ใหม่ไม่ควรเดินเกินครั้งละ 1/2-1 ชั่วโมง ควรมีรองเท้า 2-3 คู่ ที่เหมาะสมไว้สับเปลี่ยน *

7. ตรวจดูรองเท้าภายในและภายนอกก่อนสวมใส่ทุกครั้ง

 

เพื่อป้องกันการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ข้างใน เช่น เศษหินกรวด หรือวัตถุใดๆ ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจทำ ให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว 

8. ข้อควรปฏิบัติอื่น ๆ ในการดูแลสุขภาพเท้า

  • ควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างเพราะอาจจะกดทับเส้นประสาท เส้นเลือด ทำให้โลหิตไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก
  • ห้ามแช่เท้าในน้ำทุกชนิด เพราะน้ำจะชะเอาไขมันที่ผิวหนังออกไปทำให้ผิวแห้ง และมีโอกาสเกิดแผลได้ง่ายขึ้น
  • หมั่นบริหารเท้า เพื่อให้มีการไหลเวียนของโลหิตไปสู่เ้ท้าดีขึ้น
  • สวมรองเท้าตลอดเวลา ทั้งในและนอกบ้านป้องกันไม่ให้เกิดแผล นอกจากนี้การเดินเท้าเปล่าจะเพิ่มโอกาสในการเกิดหนังด้านที่ฝ่าเท้า และกัดเป็นแผลตามมาได้เช่นกัน
  • ห้ามเดินเท้าเปล่าบนพื้นผิวที่ร้อนเช่น บนหาดทราย ระเบียงวัด หรือพื้นซีเมนต์
  • หากต้องออกแดดหรือต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรทาครีมกันแดดบริเวณหลังเท้าเพื่อป้องกันแดดเผา (เลือกชนิดที่ไม่มีน้ำหอม และควรทดสอบการแพ้ก่อน)
  • ห้ามใส่รองเท้าแตะประเภทคีบระหว่างนิ้วเท้า เพราะทำให้เกิดแผลตรงซอกนิ้วเท้าได้ง่าย
  • ไม่สวมเครื่องประดับที่เท้า อาทิ แหวนเท้า สร้อยข้อเท้า อาจเสียดสีหรือเป็นแผลได้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อักเสบ เป็นหนอง ได้ง่าย
  • หากเป็นแผล หรือพบอาการผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์ทันที