ใครปวดฝ่าเท้าบ่อย ๆ ต้องอ่าน!! สัญญาณเตือน อาจนำมาสู่ “ภาวะเท้าแบน” ไม่รู้ตัว
เท้าเป็นอวัยวะที่เชื่อมโยงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายของคนเรา เพราะนอกจากจะต้องแบกรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทมากมาย เมื่อใดที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเท้า อย่างอาการปวดฝ่าเท้า นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเท้าของเราอยู่ก็ได้ค่ะ และหนึ่งในโรคต้องสงสัยก็คือ “ภาวะเท้าแบน”
เท้าแบนคืออะไร
เท้าแบน (Flat Foot) หมายถึงรูปร่างเท้าผิดปกติแบบหนึ่งที่ส่วนโค้ง ด้านในของเท้า หรือที่เราเรียกว่า อุ้งเท้า ซึ่งโดยปกติเท้าบริเวณนี้จะมีส่วนโค้งเว้าเข้าไปด้านใน แต่สำหรับในคนที่เท้าแบน ส่วนโค้งนี้จะน้อยลงกว่าปกติจนแบนราบเป็นเส้นตรงหรือจะโค้งนูนยื่นออกมาได้ ซึ่งเท้าแบนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัยเลยค่ะ
ประเภทของเท้าแบน
ใครจะรู้ว่าเท้าแบนจะมีการแบ่งประเภท ลักษณะตามความรุนแรงของโรคได้ด้วย ซึ่งประเภทของเท้าแบนจะแบ่งออกมาเป็น 2 กลุ่มได้
- เท้าแบนแบบนิ่ม (Flexible Flatfoot) เป็นเท้าแบนที่ยังมีส่วนโค้งเว้าด้านในของเท้าเป็นปกติเมื่อไม่ได้ลงน้ำหนัก แต่เมื่อยืนลงน้ำหนัก ส่วนโค้งเว้าด้านในนี้จะค่อย ๆ ลดลงหรือหายไป ซึ่งประเภทนี้ เราจะพบได้บ่อยที่สุด โดยทั่วไปเท้าจะแบนเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ถ้าเกิดอาการเจ็บปวด โดยมากจะสัมพันธ์กับเอ็นร้อยหวาย เมื่อต้องยืนหรือเดินมาก ๆ
- เท้าแบนแบบแข็ง (Rigid Flatfoot) พบได้น้อยกว่าแบบแรก โดยลักษณะส่วนโค้งด้านในเท้าจะโค้งนูนออกมาตลอดเวลา ไม่ว่าจะลงน้ำหนักหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเท้าก็จะแข็งผิดรูปมาก ๆ และยังมาพร้อมความเจ็บปวดเมื่อต้องยืนหรือเดินมาก ๆ
อาการของเท้าแบน
โดยทั่วไปแล้วเราสามารถพบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงอาการรุนแรง แต่สำหรับใครที่เท้าแบนแต่ไม่มีอาการปวดใด ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ค่ะ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดส้นเท้า หรือปวดฝ่าเท้าเป็นพิเศษ
- ปวดน่อง ปวดเข่า และลามไปปวดสะโพก
- ยืนนาน ๆ ไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก
- ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น
- ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็ง
สาเหตุที่ทำให้เกิดเท้าแบน
สำหรับสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดเท้าแบนนั้นมีมากมายเลยค่ะ เพราะหลายครั้งคนเรามักจะเป็นแบบที่ไม่รู้ตัวเลยก็ได้ จนเกิดอาการมาก ๆ แล้วถึงจะรู้ว่าตัวเองเท้าแบน ซึ่งสาเหตุมีดังนี้
- การใส่รองเท้าที่สึกมาก ๆ
หลายคนอาจจะงงว่ารองเท้าที่สึกเกี่ยวอะไรกับเท้าแบน ก็เพราะว่าการกระจายน้ำหนักของฝ่าเท้าด้านในมันหายไปหรือการกระจายน้ำหนักทำได้ไม่ดี
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีเท้าแบนตั้งแต่เกิด ซึ่งอาจจะเป็นกรรมพันธุ์ เป็นความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือกระดูกเท้ายังเจริญไม่ได้เต็มที่เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา
- การใส่รองเท้าที่มีพื้นแข็งมาก ๆ ตั้งแต่เด็ก
หากในวัยเด็ก ใครที่ใส่รองเท้าแทบจะตลอดเวลา และรองเท้านั้นมีพื้นแข็งมาก ๆ พัฒนาการโครงสร้างเท้าจะเติบโตตามรุปทรงของรองเท้าที่ใส่นั่นเอง พอพื้นรองเท้าแข็ง เท้าก็ไม่เกิดการยืดหยุ่นตามธรรมชาติ ทำให้เท้ามีพื้นที่เต็ม แบนราบ และไม่มีส่วนโค้งเว้าตามปกตินั่นเอง
- การเกิดโรคบางอย่างขึ้นที่เส้นเอ็นเท้า เช่น เส้นเอ็นพยุงอ้งเท้าเสื่อม ภาวะข้อเสื่อม เส้นเอ็นเสื่อมที่เกิดจากภาวะข้ออักเสบเรื้อรัง รวมไปถึงความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อในเท้าและข้อเท้า ที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อจากเส้นประสาทกดทับจากหมอนรองกระดูก
การรักษาภาวะเท้าแบน
อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นว่าถ้าไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ที่เท้าก็ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ หรืออาจจะแก้โดยการใช้อัปกรณ์เสริมอย่าง แผ่นรองเท้า รวมถึงอุปกรณ์พยุงข้อเท้าต่าง ๆ แต่หากมีอาการรุนแรง ก็จะต้องผ่าตัดเพื่อจัดแนวกระดูกหรือเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ใครจะคิดว่าแค่อาการปวดฝ่าเท้าหรือปวดเท้าธรรมดา ๆ จะกลายเป็นภาวะเท้าแบนที่สามารถรุนแรงจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดได้ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เท้าของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความรุนแรงของอาการในระยะยาว