นิ้วโป้งเท้าเป็นนิ้วหลักของเท้าที่คงแนวการลงน้ำหนักของเท้าและเป็นแรงส่งก่อนที่เท้าจะก้าวพ้นพื้น แต่หากมีอาการที่ นิ้วเท้าเก หรือ นิ้วโป้งบิดโค้งเข้าหานิ้วชี้ จะพบว่าแนวการเดินของเท้าจะเริ่มผิดปกติ ตาปลาหรือหนังแข็งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณด้านข้างของขอบนิ้วโป้งที่เบน อีกทั้งยังมีโคนนิ้วโป้งนูนโค้งออกมาจนสังเกตเห็นได้ชัด และมักมีอาการปวดในเวลาเดินที่โคนนิ้วโป้งที่โค้งนูนได้ จึงเป็นปัญหาในการเดิน การลงน้ำหนัก และ การสวมใส่รองเท้า
ลักษณะอาการและเหตุผล
- นิ้วโป้งเท้ามีการบิดเอนเข้าหานิ้วชี้
- โคนนิ้วโป้งเท้าบิดนูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด
- ปลายเท้าและเท้าส่วนหน้ามีลักษณะแบนกว้างขึ้น
- ในกรณีเป็นมาก ปลายนิ้วโป้งเท้าจะเกยไปอยู่บนนิ้วชี้ หรือ ซ้อนใต้นิ้วชี้และนิ้วอื่นๆ
เมื่อนิ้วโป้งเท้าเอียงไปทำให้แรงดึงในเส้นเอ็นต่างๆ ของนิ้วเท้าผิดแนวไป ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ผิดรูปมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเกิดการเดิน แรงที่กระทำต่อข้อนิ้วเท้าจะเปลี่ยนไปโดยตำแหน่งเคลื่อนไปทางด้านนอก ทำให้มีการอักเสบของข้อโคนนิ้วโป้งเท้า
สาเหตุ
I. กรรมพันธุ์ จากพ่อแม่ หรือ เครือญาติ ที่เคยมีประวัติมีเท้าลักษณะนี้
II.โครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน หรือ กระดูกส้นเท้ามีการบิดเอนเข้าด้านใน หรือ เอ็นร้อยหวายบิดโค้งเค้าด้านใน เป็นผลให้แนวแรงในการเดินมีการเบี่ยงมาลงน้ำหนักทางฝั่งด้านในเท้ามากผิดปกติ จึงเป็นการเพิ่มแรงเครียดต่อเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบนิ้วโป้งและโคนนิ้วโป้งให้ทำงานหนัก
III. การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่บีบรัดหน้าเท้า หัวรองเท้าแหลม จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยนี้จึงเป็นสาเหตุให้พบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิง มักเป็นในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไปที่มีประวัติใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
IV. ผู้ที่มีโรคความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น หรือการอักเสบของข้อในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง (rheumatoid arthritis) จะทำให้เกิดการอักเสบทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นผิดปกติ ความผิดรูปจะค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับอาการปวดที่โคนนิ้วโป้งเท้า
แนวทางการรักษา
การรักษาสามารถทำได้ทั้งการรักษาที่ต้นเหตุ การรักษาที่ปลายเหตุ และ การรักษาของที่ต้นเหตุและปลายเหตุควบคู่กัน ทั้งนี้จำเป็นต้องคุยถึงแผนการรักษากับผู้ป่วยก่อนล่วงหน้า ถึงข้อดีข้อเสียในแต่ละแบบการรักษา
I. การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด
ข้อบ่งชี้
- สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ข้อผิดรูปไม่มาก สามารถดึงหรือดันแก้ไขได้ ไม่มีข้อเสื่อม
- สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก แต่การผ่าตัดอาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม หรือ การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดต้องใช้เวลานานจนเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้แก่ผู้สูงอายุเป็นต้น
การรักษา
การรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่ การทำแผ่นรองในรองเท้าเฉพาะเท้าของผู้ป่วย การใส่รองเท้าที่เหมาะสม และ การใส่อุปกรณ์ประคองข้อนิ้วโป้งเท้า ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เนื่องจากสามารถสืบหาต้นเหตุและความเสี่ยงของการที่มีภาวะนิ้วโป้งเท้าเก
- แผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล (Custom-made Insole) – เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยจัดโครงสร้างเท้าให้เหมาะสมกลับมาอยู่ในแนวที่ปกติ เพื่อไม่ให้อุ้งเท้าแบนล้ม กระดูกส้นเท้าบิดล้มเข้าทางฝั่งด้านใน หรือ เอ็นร้อยหวายบิดโค้งเค้าทางฝั่งด้านใน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ปัจจัยที่จะทำให้นิ้วโป้งเท้าเก
- ใส่รองเท้าที่เหมาะสม – ใส่รองเท้าขนาดพอดี ไม่คับ หัวรองเท้ากว้าง (wide toe box) เมื่อสมใส่แล้วสามารถขยับนิ้วเท้าได้ ไม่บีบรัดนิ้วเท้า พื้นรองเท้านุ่ม ทั้งนี้ควรหลีกเลี่งรองเท้าที่มีหัวส่วนปลายที่แหลมและส้นรองเท้าสูงมากกว่า 2 นิ้ว
- การใส่อุปกรณ์ประคองนิ้วโป้งเท้า ได้แก่ เจลคั่นนิ้วเท้า (Gel Toe Separator) หรือ อุปกรณ์กันนิ้วโป้งเบน (Hullux Valgus Splint) จะช่วยให้มุมในการที่นิ้วโป้งเท้าเก ไม่เพิ่มมากไปกว่าเดิม และเป็นการทำให้เอ็นรอบข้อนิ้วโป้งเท้าหย่อน จึงบรรเทาและลดอาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้งเท้าได้
การบริหารเท้าสำหรับป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บจากนิ้วหัวแม่โป้งเท้าเก (Foot Exercise for Prevent and Relief Bunion)
การบริหารเท้าจะช่วยให้มุมหัวแม่โป้งเท้าที่เกเกิดได้ช้าลงหรือเป็นมากขึ้น ลดอัตราความจำเป็นในการผ่าตัด ควรทำการบริหารเท้าทุกๆวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากถอดรองเท้า
– เหยียดนิ้วโป้ง ใช้มือดึงหัวแม่โป้งเท้าดัดให้อยู่ในแนวตรงและเรียงตัวแนวเดียวกับนิ้วอื่นๆ
– เหยียดนิ้วทั้งหมดเกร็งแล้วชี้ไปในทิศทางเดียวกันเป็นเวลา 10 วินาที หลังจากนั้นก็สลับด้วยการงอนิ้วทั้งหมด ค้างไว้เป็นเวลา 10 วินาที ทำซ้ำสลับกันไปมาหลายๆครั้ง
– งอนิ้วเท้าทั้งหมด กดนิ้วเท้าที่งอกับพื้น ค้างไว้เป็นเวลา 10 วินาที หลังจากนั้นปล่อยยกเท้าขื้น ทำซ้ำแบบเดิมหลายๆครั้ง
– ฝึกการหยิบด้วยนิ้วเท้า ฝึกการหยิบสิ่งของหรือผ้าด้วยนิ้วเท้า วางลง และ หยิบขึ้นมา ทำซ้ำหลายๆครั้ง
พันผ้ายืดนิ้วโป้งเท้าให้อยู่ในมุมที่ปกติเหมือนนิ้วอื่นๆ นิ้วเท้าสามารถปรับตำแหน่งหลังจากพันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
บรรเทาอาการปวด : การบริหารเท้าและนิ้วเท้าเป็นสิ่งที่ดี แต่หากความเจ็บปวดยังคงมีอยู่ สามารถบรรเทาอาการปวดได้โดย
- แช่เท้าในน้ำอุ่น เตรียมภาชนะใส่น้ำอุ่นและแช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นเวลา 20 นาที ความอบอุ่นจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดตามข้อต่อและบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว
- ใช้ไอซ์แพคประคบเย็น สำหรับอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน การประคบเย็นเป็นทางเลือกที่ดี นำน้ำแข็งใส่ถุง ห่อไว้ด้วยผ้าขนหนู ประคบเย็นเป็นเวลา 20 นาที
- ทานยากลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs) เช่น ไอบลูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวด
สำหรับภาวะที่นิ้วหัวแม่โป้งเกเล็กน้อยถึงปานกลาง การใช้อุปกรณ์ดามแบบยึดหยุ่น “Flexible Bunion Splint” ได้มีการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่าสามารถดัดแก้มุมที่นิ้วหัวแม่โป้งเท้าเกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ บรรเทาอาการปวดบริเวณที่นูนได้
II. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด
การรักษาโดยวิธีนี้
ข้อบ่งชี้
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวด และ ข้อผิดรูปมาก มีภาวะข้อกระดูกเสื่อมเกิดขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และ การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดสามารถทำได้รวดเร็ว
การรักษา
วิธีผ่าตัดมีมากกว่า 100 วิธีขึ้นกับความรุนแรงและความชำนาญของแพทย์ เช่น ตัดก้อนที่นูนออก การตัดกระดูกเพื่อเปลี่ยนแนวให้ตรงขึ้น การเชื่อมข้อ เป็นต้น ซึ่งจะเลือกวิธีไหนนั้นมักขึ้นอยู่กับลักษณะความผิดปกติของนิ้วเท้าว่ามาก น้อยขนาดไหน และเกิดจากสาเหตุอะไร หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถเดินช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย โดยอาจใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัว ประมาณ 4-6 สัปดาห์แรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การผ่าตัดไม่สามารถรับประกันได้ว่า นิ้วโป้งเท้าจะไม่กลับไปเกในลักษณะเดิมอีก เนื่องจากต้นเหตุหลักที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ในปัจจุบัน หลังการผ่าตัด การใช้แผ่นรองในรองเท้า และ การใส่รองเท้าที่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นและนำมาเป็นวิธีในการรักษาร่วมกัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปมีภาวะนิ้วโป้งเท้าเกอีก
สอบถามรายละเอียดโปรโมชั่น
แอดLine@ ของ Talon ได้ที่นี่เลยค่ะ
👉 https://line.me/R/ti/p/%40ool5177g
foot clinic เปิดบริการ จันทร์-เสาร์ 8.30-17.30 น. Tel 02-896-3800