นักกายภาพบำบัด ชี้ “เลือกรองเท้าผิดชีวิตเปลี่ยน”

นักกายภาพบำบัด ชี้ “เลือกรองเท้าผิดชีวิตเปลี่ยน”

นักกายภาพบำบัด คือ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่ช่วยตรวจประเมินร่างกาย วินิจฉัยระบบกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ วางแผนการรักษา พร้อมดำเนินการรักษา รวมถึงส่งเสริม รักษา ป้องกัน อาการบาดเจ็บหรือผิดปกติของร่างกาย รวมถึงฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถกลับมาทำงาน หรือรับผิดชอบหน้าที่ในชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงเหมือนปกติให้ได้มากที่สุด

นักกายภาพบำบัด “ช่วยดูแลปัญหาสุขภาพเท้า”

ในปัจจุบันผู้ที่มีปัญหาการเดิน ปัญหาเท้าผิดรูป เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่

– มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อตั้งแต่เกิด

– ได้รับบาดเจ็บ

– ภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บป่วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคสมอง

– ได้รับผลกระทบจากการผ่าตัด

– ร่างกายเสื่อมสภาพตามวัย

– มีพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพเท้า เช่น เลือกใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม อุปนิสัยการเดิน-ยืน-นั่งที่ไม่ถูกต้อง

– ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพเท้า เช่น อาชีพที่ต้องยืนหรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน

เมื่อมีปัญหาสุขภาพเท้า การไปพบแพทย์เป็นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการดูแลหรือฟื้นฟูสุขภาพเท้า กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น บริเวณหลัง ขา เข่า น่อง เท้า ฯลฯ ตลอดจนการปรับการเดิน การยืน การเคลื่อนไหวร่างกายให้เป็นปกติ เป็นหน้าที่ของนักกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติหรือเกือบปกติ เพราะการทำกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างร่างกาย ได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ปลายประสาท ในบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บหรือมีปัญหา และพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งช่วยให้รู้จักวิธีป้องกันการได้รับบาดเจ็บและวิธีการดูแลสุขภาพเท้าต่อไป

คำแนะนำการดูแลสุขภาพเท้าจากนักกายภาพบำบัด

จากผลวิจัยพบว่าชั่วชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งจะใช้เท้าเดินเป็นระยะทาง เฉลี่ยถึง 120,000 – 160,000 กิโลเมตร ซึ่งยาวมากกว่า 3 ถึง 4 เท่าของระยะทางรอบโลก ดังนั้นเท้าของเราจึงควรที่จะได้รับการดูแลและปรนนิบัติให้ดีที่สุดเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติไปตลอดชีวิต ซึ่งนักกายภาพบำบัดได้แนะนำวิธีดูแลสุขภาพเท้าไว้ดังนี้

  1. ทุกวันที่อาบน้ำ อย่าละเลยการทำความสะอาดเท้า หลายคนอาบน้ำพิถีพิถันกับการทำความสะอาดลำตัว ใบหน้า แขนขา แต่ส่วนเท้ากลับล้างแบบลวกๆ อาจเพราะล้างไม่ถนัด ต้องก้ม กลัวลื่นล้ม นักกายภาพบำบัดแนะนำให้หาเก้าอี้ หรือ ที่รองนั่งก่อนล้างทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ หรือสบู่เหลวของเด็ก ล้างตามซอกนิ้วและฝ่าเท้า อาจใช้ใยสำหรับทำความสะอาดถูเบาๆ ก็ได้ แต่ห้ามขัดแรงเด็ดขาดเพราะอาจทำให้เป็นแผล ซึ่งง่ายต่อการติดเชื้อหรืออักเสบ
  2. หลังอาบน้ำ ใช้ผ้านุ่ม ๆ ซับน้ำ เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า และฝ่าเท้า เพื่อป้องกันการอับชื้นอันเป็นสาเหตุของเชื้อรา และกลิ่นเท้า
  3. ถ้าผิวแห้งตึง ให้ทาครีมบำรุงบาง ๆ เลือกที่เนื้อบางเบา ซึมซาบเร็ว และไม่เหนียวเหนอะหนะ การทาครีมควรหลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหมักหมมซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นเท้า หรือเป็นเชื้อราได้
  4. หมั่นตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธี คือ ตัดหลังจากอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ และให้ตัดไปตามแนวเล็บเท่านั้น ไม่ควรเซาะด้านข้างเล็บเพราะจะทำให้เป็นแผลอักเสบ ง่ายต่อการติดเชื้อได้
  5. สำหรับคนที่เป็นเล็บขบ ต้องตัดเป็นแนวตรงเท่านั้น ห้ามตัดตามแนวเล็บหรือเซาะข้างเล็บเพราะอาจจะทำให้มีอาการเล็บขบเรื้อรังได้
  6. ในตอนกลางคืน หากอากาศเย็นควรสวมถุงเท้านอน
  7. ก่อนสวมถุงเท้า รองเท้า ต้องมั่นใจว่าเท้าแห้งสนิท
  8. ควรเลือกถุงเท้าที่เป็นผ้าใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อให้ระบายอากาศ ระบายความร้อนได้ดี ช่วยซับและระเหยน้ำได้เร็ว ไม่ให้เท้าอับชื้น หมักหมม และควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวันเพื่อสุขอนามัยที่ดี ไม่ควรสวมถุงเท้าซ้ำ บางคนใช้วิธีผึ่งลมหรือตากแดดก่อนนำมาใส่เพราะรู้สึกว่าแห้งแล้ว ใส่ได้ แต่ในความเป็นจริงคือส่วนที่เป็นน้ำระเหยไปหมดก็จริง แต่คราบความสกปรก เชื้อโรค และเกลือจากเหงื่อ ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน หากนำมาใส่ซ้ำ ก็จะทำให้เท้าของเราติดเชื้อได้
  9. หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า แม้เดินในบ้านก็ควรใส่รองเท้าสำหรับเดินในบ้าน เพื่อปกป้องเท้าและป้องกันการบาดเจ็บบริเวณเท้า
  10. หมั่นสังเกตเท้า ถ้ามีอาการบวมแข็ง หรือคันบริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า ฝ่าเท้า นั่นคืออาการเริ่มแรกของเชื้อราบนผิวหนัง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
  11. ออกกำลังเพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า
  12. เลือกสวมใส่รองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้าและกิจกรรม
  13. สำหรับผู้ที่มีปัญหาการเดิน ปัญหาเท้าผิดรูป ปัญหาสุขภาพเท้า หรือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพเท้า เช่น อาชีพที่ต้องยืนหรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรเลือกใส่เป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพเท้า

นักกายภาพบำบัดเฉลย เลือกรองเท้าผิด ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร?

  1. มีกลิ่นเท้า เท้าเหม็น เกิดจากรองเท้าและถุงเท้าที่สวมใส่ระบายอากาศได้ไม่ดี เมื่อเปียกเหงื่อแล้วจะแห้งช้า อับ และเกิดกลิ่นเหม็น รองเท้าที่อับ ไม่ระบายอากาศ อย่างรองเท้าหนัง รองเท้าผ้าใบ รองเท้าพีวีซี เปรียบเสมือนซาวน่าดีๆ นี่เอง ที่นอกจากจะเร่งเหงื่อให้ออกเยอะแล้ว ยังดูดและเก็บเหงื่อได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ในเหงื่อของเรามีแบคทีเรียอยู่ รองเท้าที่ไม่ระบายอากาศจึงเป็นแหล่งรวบรวมและกักเก็บแบคทีเรียจำนวนมหาศาล นอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์แล้ว ในบางรายที่มีแผลรองเท้ากัดแล้วมาเจอแหล่งสะสมของแบคทีเรียแบบนี้ ทำให้เท้าของเราเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกลายเป็นปัญหาสุขภาพเท้าเรื้อรังได้เลย

 

  1. เชื้อราที่เล็บ เกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่ระบายอากาศ ไม่ระบายความร้อน ทำให้เกิดความชื้นสะสม การหมักหมมของเหงื่อทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งเชื้อราจะเข้าไปทางรอยแผลเล็กๆ ที่เราอาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือในตำแหน่งที่มีการฉีกขาดของเล็บกับผิวหนังใต้เล็บ มีลักษณะเริ่มต้นด้วยมีจุดสีขาว หรือสีเหลืองที่เล็บ หรือใต้จุดปลายของเล็บ และเมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เล็บมีสีเปลี่ยนไป หนาขึ้น และมีขอบด้านๆ รวมไปถึงจะมีอาการเจ็บที่เล็บด้วย เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ยาก และต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานานกว่าที่เล็บจะกลับมาเป็นปกติ

 

  1. แผลรองเท้ากัด พุพอง เป็นหนอง เกิดจากการใส่รองเท้าไม่พอดีกับรูปเท้า ทำให้เกิดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว นอกจากนี้ การเลือกรองเท้าที่ตัดเย็บจากวัสดุที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ เช่น แข็ง ไม่ยืดหยุ่น ก็ทำให้เกิดแผลรองเท้ากัดได้เช่นกัน ทำให้บริเวณที่ถูกเสียดสีมีอาการบวมแดง หากเป็นมาก แผลจะมีลักษณะเป็นตุ่มพอง ผิวหนังชั้นนอกพองตัวแยกชั้นออกมาจากผิวหนังชั้นใน มีน้ำเหลืองอยู่ภายใน หรือบางทีอาจมีเลือดปนอยู่เพราะเส้นเลือดฝอยแตก ตุ่มน้ำนี้หากแตกจะทำให้ผิวหนังชั้นในสัมผัสกับสิ่งสกปรก เชื้อโรคภายนอก ทำให้แผลติดเชื้อและอักเสบ

 

  1. นิ้วหัวแม่เท้าเอียง นิ้วปีน กระดูกโปน เป็นปัญหาสุขภาพเท้าอันดับหนึ่งของผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง อาการคือมีกระดูกโปนบริเวณข้อต่อตรงโคนนิ้วหัวแม่เท้า เนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าเอนเข้าไปชิดกับนิ้วชี้ ทำให้กระดูกข้อต่อหัวแม่เท้าโตขึ้นและปูดออกมา ทำให้เกิดอาการบวม แดง อักเสบ และอาจลุกลามเป็นปัญหาสุขภาพเท้าเรื้อรัง เช่น ถุงน้ำที่เป็นตัวรองรับการเสียดสีบริเวณกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อใกล้ข้อต่อ อักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง หรือ นิ้วเท้าหงิกงอผิดรูป นิ้วหัวแม่เท้าปีนขึ้นมาซ้อนบนนิ้วชี้ นิ้วเท้าขยับไม่ได้ ทำให้เดินลำบาก ใช้ชีวิตลำบากขึ้น

 

  1. เอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “โรครองช้ำ” เกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถรับแรงกระแทก และกระจายน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สวมใส่มีอาการเจ็บที่ส้นเท้า อุ้งเท้า ลามไปจนทั่วฝ่าเท้า อาการของโรครองช้ำ จะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมาเลยทันทีแล้วปวดตุบ ๆ ไปเรื่อย ๆ และค่อย ๆ หายไปเองจนคิดว่าน่าจะหายปวดแล้ว แล้วอาการเจ็บจี๊ดก็กลับมาอีก เป็นอีกแบบนี้วนลูปไปเรื่อย ๆ อาการเจ็บปวดจะพีคที่สุดคือจังหวะแรกที่เราทิ้งน้ำหนักลงส้นเท้าในก้าวแรกหลังการตื่นนอนหรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตลำบากมาก

 

หลักการเลือกรองเท้าอย่างถูกวิธีที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ

  1. เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า ไม่หลวม ไม่คับแน่นเกินไป ต้องมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อให้สวมสบาย และให้นิ้วเท้าเคลื่อนไหวได้โดยอิสระ ไม่ถูกบีบรัดจนเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหากระดูกโปนนิ้วเท้าปีน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่หลวมเกินไปเพราะอาจเกิดการเสียดสีจนเป็นแผลหรือตาปลา ที่สำคัญอาจเกิดอุบัติเหตุเท้าพลิก สะดุด หกล้ม เป็นอันตรายขณะเคลื่อนไหว

 

  1. สำหรับผู้ที่มีปัญหาเท้าผิดปกติ ต้องพิจารณาตัดรองเท้าที่เหมาะกับรูปเท้า ต้องการดูรองเท้าสั่งตัดแก้ปัญหาสุขภาพเท้าคลิก

 

  1. เลือกรองเท้าที่พื้นมีความสามารถในการรองรับแรงกระแทกที่ดีเป็นพิเศษ พื้นรองเท้าหนา มีความนุ่มและยืดหยุ่น ใส่แล้วไม่ยวบหรือทรุดตัว และควรมี Insole เพื่อช่วยทำให้ลดการกระแทก กด เอ็นฝ่าเท้าเวลาเดิน ปรับการลงน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. เลือกรองเท้าที่มี Arch of Foot ที่ทำหน้าที่รองรับและกระจายน้ำหนักบริเวณฝ่าเท้าได้ดีเป็นพิเศษ ช่วยประคองรูปเท้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องขณะเคลื่อนไหวหรือก้าวเดิน เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และกระจายน้ำหนัก ช่วยลดอาการปวด และป้องกันการบาดเจ็บ ปกติคนเราขณะยืน เดิน น้ำหนักจะมารวมศูนย์อยู่บริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้า ถ้ายืนเดินนานๆ จะเกิดอาการปวดที่เรียกว่าปวดรองช้ำ รองเท้าสุขภาพที่ดีจะมี Arch of Foot ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้าปวดส้นเท้า บรรเทาอาการรองช้ำได้ดีมาก อีกทั้งยังช่วยค้ำอุ้งเท้าป้องกันไม่ให้เท้าบิดเข้าด้านใน อันเป็นภาวะที่จะทำให้แนวกระดูกสันหลังบิดเบี้ยว และนำมาซึ่งอาการปวดข้อต่าง ๆ เช่น ปวดข้อเข่า และ ปวดหลังส่วนเอว

 

  1. เลือกรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ความยืดหยุ่นสูง ระบายอากาศได้ดี อาทิ ไมโครไฟเบอร์ เป็นต้น เพราะมีคุณสมบัติเด่นเรื่องความยืดหยุ่น ความสามารถในการกระจายน้ำหนักและอุณหภูมิ มีน้ำหนักเบากว่าหนังแท้ถึง 30-50% เมื่อนำมาเป็นวัสดุผลิตรองเท้า จึงได้รองเท้าที่เบา สวมใส่สบาย มีความคล่องตัวสูง ทั่วโลกนิยมนำมาตัดเย็บเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพเพราะเท้าจะได้ไม่ต้องรับภาระหนักมากนัก ทำให้ผู้สวมใส่รองเท้าจากไมโครไฟเบอร์รู้สึกสบาย สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นอิสระ เลือกดูแบบรองเท้าไมโครไฟเบอร์นำเข้าคลิก